- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
อำเภอนาหว้า นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องของการทำแคน เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานแล้วยังมีกลุ่มทอผ้าไหม มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ซึ่งถือเป็นกลุ่มทอผ้าไหมแห่งแรกของประเทศๆไทย
เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถและพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินต้น ที่วัดธาตุประสิทธิ์ หมู่ ๔ ตำบลนาหว้าอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ได้มีราษฎร จำนวน ๖ คน รอรับเสด็จทูลเกล้าฯ ถวายผ้าไหมแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ดังนี้
๑. นางวงเดือน อุดมเดชาเวทย์ บ้านนาหว้า ตำบลนาหว้า
๒. นางสงกา โกษาแสง (บุตรจันทร์) บ้านนางัว ตำบลนางัว
๓. นางกาบ จิตจันดา บ้านนาคูณใหญ่ ตำบลนาคูณใหญ่
๔. นางทา โทสวนจิต บ้านนาคูณใหญ่ ตำบลนาคูณใหญ่
๕. นางผิน ลำมะสะ บ้านนาคูณใหญ่ ตำบลนาคูณใหญ
๖. นางทอน ปาทา บ้านนาคูณใหญ่ ตำบลนาคูณใหญ่
เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทอดพระเนตรผ้าไหม ก็รู้สึกพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากผ้าไหมมีลวดลายสวยงามและเป็นเอกลักษณ์แบบพื้นบ้านของชาวบ้านนาหว้า
เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๑๕ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงมีรับสั่งให้ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ณ อยุธยา ราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าสริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยราชองค์รักษ์ พ.ต.ท.วิศิษฐ์ เดชกุญชร ณ อยุธยา (ยศขณะนั้น) มาพบราษฎร ๖ คนที่ถวายผ้าไหมในคราวเสด็จ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ให้ทอผ้าไหมเพิ่มขึ้นแล้วนำทูลเกล้าฯ ถวายอีก คนละ ๖ ผืน เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้ทอดพระเนตรผ้าไหม ก็พอพระราชหฤทัยเป็นยิ่งนัก รับสั่งให้ราษฎรทอผ้าไหมเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วนำทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นประจำทุกปี โดยมอบหมายให้ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ณ อยุธยา ราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นผู้ประสานงานและออกติดตามเยี่ยมราษฎรที่ทอผ้าไหมเป็นประจำทุกเดือน เพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการของประชาชนอย่างใกล้ชิด จึงได้เริ่มส่งเสริมการทอผ้าไหมโดยอาศัยหลักการที่ว่า "ฟื้นฟูการทอผ้าไหมในช่วงว่างจากกาประกอบอาชีพทำนา"
เสริมรายได้ให้แก่ราษฎรเน้นการทอลวดลายพื้นบ้านและเป็นเอกลักษณ์ของชาวนาหว้าอย่างแท้จริง ต่อมามีราษฎรสนใจเข้าร่วมทอผ้ามากขึ้น จึงได้จัดตั้ง "กลุ่มทอผ้าไหม" ในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งถือเป็นกลุ่มทอผ้าไหมแห่งแรกของประเทศ และได้โปรด
พระราชทานจัดให้มีการฝึกอบรมสมาชิกกลุ่มทอผ้าไหมเพิ่มความรู้ในเรื่องการทอผ้าไหมให้ได้มาตรฐาน และพระราชทานอุปกรณ์ในการทอผ้าไหมให้แก่สมาชิก พร้อมกับได้โปรดรับซื้อผ้าไหมที่สมาชิกทอขึ้นทุกปี
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ พระองค์ท่านได้มีรับสั่งให้จัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมบ้านนาหว้าเป็น"มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์" ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มทอผ้าไหม บ้านนาหว้าบ้านนาคูณใหญ่ บ้านท่าเรือ บ้านนางัว บ้านนาคอยและบ้านโคกสะอาด อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม กลุ่มทอผ้าไหม บ้าน เซียงเซาบ้านหนองนกทา อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนมปัจจุบันมูลนิธิศิลปาชีพพิเศษในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถมีสมาชิก ๒๐๐ คน ประกอบด้วย กลุ่มทอผ้าไหมบ้านนาหว้า นาคูณใหญ่นาคอย นางัว ท่าเรือ และโคกสะอาด อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม (เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๓) เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
มีรับสั่งให้ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ฑีขะระ รองราชเลขานุการ ได้ตั้งชื่อกลุ่มทอผ้าไหมอำเภอนาหว้า ชื่อ "กลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ" (๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๕)ที่ได้ชื่อนี้เพราะอำเภอนาหว้าเป็นกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพของประเทศไทย
ในทุกๆปีพระองค์จะเสด็จมาแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์จังหวัดสกลนคร เพื่อเป็นการออกตรวจติดตามเยี่ยมเยียนราษฎรให้ขวัญกำลังใจ แก่สมาชิกกลุ่มศิลปาชีพในภาค ตะวันออกเฉียงเหนือและพระองค์จะจัดให้มีการประกวดผ้าไหมระดับภาคแล้วพระราชทานรางวัล
ให้แก่สมาชิกผู้มีผลงานดีเด่น และรับซื้อผ้าไหมจากสมาชิก โดยทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปใช้ในกิจการนี้ประมาณค่ามิได้ เพื่อช่วยเหลือราษฎร ของพระองค์ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ซึ่งกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มนี้ก็ได้รับพระราชทานความช่วยเหลือตลอดมา ทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของ
ราษฎรกลุ่มนี้ดีขึ้นทุกขณะ และในแต่ละปีสมาชิกกลุ่มทอผ้าไหมนาหว้า จะนำผ้าไหมเข้าประกวดระดับภาคและได้รับพระราชทานรางวัลอยู่เสมอ
นอกจากนั้นสมาชิกยังนำผ้าไหมขึ้นทูลเกล้าฯ ฝากขายเป็นประจำทุกปี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ
อย่างล้นพ้นหาที่เปรียบมิได้ กลุ่มทอผ้าไหมของกลุ่มศิลปาชีพพิเศษอำเภอนาหว้า แม้ได้จัดตั้งขึ้นแล้วก็ตามแต่การดำเนินงาน การประสานงานระหว่างสมาชิกยังมีปัญหาอยู่มากเนื่องจากสมาชิกอยู่คนละแห่งต่างหมู่บ้านต่างตำบล การทอผ้าไหมจึงอยู่ในลักษณะกระจัดกระจายกัน ต่างคนต่างทำ
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ พระครูศรีวชิรากร(พระมหาเพชร สุวิชาโน) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดธาตุประสิทธิ์ปัจจุบันคือ พระราชสิริวัฒน์ (รองเจ้าคณะจังหวัดนครพนม) ซึ่งท่านพอมีความสนใจในเรื่องนี้ และพอมีความรู้ด้านนี้อยู่แล้ว จึงฟื้นฟูขึ้นมา สรรหาผู้มีความรู้ความชำนาญจากสมาชิกเดิมที่มีอยู่แล้ว ปรับปรุงส่วนที่ขาดตกบกพร่อง สะสางส่วน ที่ยังมีปัญหาอยู่ใช้หลัก (๕ส.) อนุญาต ให้นำอุปกรณ์มาทอผ้าในวัดรวบรวมสมาชิกตั้งเป็นกลุ่มต่างๆขึ้น มีกลุ่มทอผ้าไหม กลุ่มทอผ้าฝ้าย กลุ่มทอผ้ามุกให้กำลังใจแก่สมาชิกในโอกาสอันควรจัดสร้าง อาคารเป็นสถานที่ทอผ้าบรรจุกี่ได้ประมาณ ๓๐ กี่ ตั้งชื่ออาคารนี้ว่า “ศูนย์ศิลปาชีพหัตถกรรมพื้นบ้านอำเภอนาหว้า”และยังมีศูนย์จำหน่ายสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์จากชาวอำเภอนาหว้า มีผ้าไหมผ้าลายยกมุก ผ้าฝ้าย ผ้ามัดหมี่ ผ้าขาวม้า เครื่องจักสาน กระติบข้าว ตะกร้า
ตลอดจนถึงผลิตภัณฑ์เครื่องดนตรี พิณ แคน โหวด มีผู้คนจากต่างอำเภอ จังหวัดแวะชมศูนย์หัตถกรรมแห่งนี้ เป็นจำนวนมากในแต่ละเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานเทศกาลบุญเดือนสี่ของดีนาหว้า จะมีผู้มาเยี่ยมศูนย์แห่งนี้ซื้อสินค้าไปเป็นจำนวนมากนำเงินหมุนเวียนให้กับสมาชิก เสริมรายได้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี และถือได้ว่าศูนย์แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอนาหว้าอีกด้วย
การทอผ้าไหมอำเภอนาหว้า ถือได้ว่าฟื้นฟู รุ่งเรือง ในสมัยพระครูศรีวชิรากร(ปัจจุบันตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดนครพนม) เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเป็นประจำทุกปี สมาชิกมีรายได้
เกิดขวัญกำลังใจที่จะทุ่มเทเพื่องานในด้านนี้อย่างเต็มความสามารถ
ข้อมูลจาก
https://sites.google.com/site/naeanathitheiywnahwa/wad-thatu-prasiththi/suny-hat-krrm
- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น