"พญาศรีสัตตนาคราช " พญานาคแม่น้ำโขง ความเชื่อ และคำบอกเล่าหลวงปู่คำพันธ์



   "พญาศรีสัตตนาคราช" แลนด์มาร์ค แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดนครพนม สร้างขึ้นตามความเชื่อ ความศรัทธา พญานาค ของพี่น้องชาวไทยและชาวลาวเกี่ยวกับองค์พญานาคที่คอยดูแลปกปักษ์รักษาผู้คนในแถบลุ่มน้ำโขงและองค์พระธาตุพนม

    องค์พญาศรีสัตนาคราช สร้างเสร็จเมื่อกลางปี 2559 และได้มีการจัดพิธีสมโภชใหญ่ พุทธาภิเษก รวม 9 วัน 9 คืน ระหว่างวันที่ 9 – 18 กันยายน 2559 ที่ผ่านมาถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในจังหวัดนครพนมร่วมปลุกเสก นอกจากนั้น ยังมีสาวงามเจ็ดชนเผ่าของแต่ละอำเภอกว่า 400 คนมารำบวงสรวงตลอด 9 วัน9 คืนอีกด้วย

ความเชื่อเกี่ยวกับ "องค์พญาศรีสัตตนาคราช" แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของชาวพี่น้องจังหวัดนครพนม มีทั้งพี่น้องชาวไทยและชาวลาว มีความเชื่อความผูกพันกับองค์พญานาค พอๆ กับความผูกพันในลำน้ำโขง รุ่นปู่ย่าล้วนศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของพญานาคในฐานะที่เป็นผู้ดูแลปกปักษ์รักษาแถบลุ่มน้ำโขง รักษาพุทธศาสนา รวมถึงองค์พระธาตุพนม อีกด้วย องค์พญานาคทองเหลือริมแม่น้ำโขงนครพนม ถือว่าเป็นองคืพญานาคที่ใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน จากประติมากรรมที่สูงค่าผนวกกับความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อองค์พญาศรีสัตตนาคราช ส่งผลนักท่องเที่ยวทั้งในภาคอีสาน และ ภาคอื่นๆของไทย ที่มีความเชื่อนับถือพญานาค เดินทางมาเที่ยวสักการะกราบไหว้ขอพรองค์พญาศรีสัตตนาคราช ริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม อย่างไม่ขาดสาย


    นอกจากนี้ยังมีคำบอกเล่าเกี่ยวกับ พญานาค ของหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัย จังหวัดนครพนม ได้กล่าวว่า ทางฝั่งไทยและฝั่งลาวต่างมี กษัตริย์แห่งนาคราช หรือ นาคาธิบดี แยกปกครองดูแล

พญานาคฝั่งลาว คือ พญาศรีสัตตนาคราช (นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล) ซึ่งเชื่อว่าเป็นกษัตริย์แห่งพญานาคฝั่งลาว เป็นพญานาคเจ็ดเศียร

พญานาคฝั่งไทย คือ พญาศรีสุทโธนาคราช (นาคาธิบดีสีสุทโธ) เป็นกษัตริย์พญานาคฝั่งไทย เป็นพญานาคหนึ่งเศียร

พญาศรีสุทโธ  ท่านชอบจำศีลบำเพ็ญเพียร และปฏิบัติธรรม มีนิสัยอ่อนโยนมีเมตตา ไม่ชอบการต่อสู้ ชอบมาปฏิบัติธรรมที่พระธาตุพนม โดยมอบหมายให้เหล่าพญานาค 6 อำมาตย์ดูแลแทน ในระหว่างที่หลบมาจำศีลภาวนา

 หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ เอ่ยชื่อ 6 อำมาตย์แห่งพญานาคไว้เพียง 3 คือ

1. พญาจิตรนาคราช เป็นพญานาคที่รักสวยรักงาม มีเขตแดนปกครองของตน  ตั้งแต่ตาลีฟู ถึงจังหวัดหนองคาย ตามแนวแม่น้ำโขง โดยมีที่สุดแดนอยู่วัดหินหมากเป้ง
2. พญาโสมนาคราช มีเขตแดนปกครอง ตั้งแต่วัดหินหมากเป้ง มาจนถึงวัดพระธาตุพนม สุดเขตแดนที่แก่งกะเบา พญาโสมนาคราช มีอุปนิสัยคล้ายพญาศรีสุทโธนาคราช คือชอบปฏิบัติธรรม จึงเป็นที่ไว้วางใจ และโปรดปรานแก่พญาศรีสุทโธนาคราชมากกว่าพญานาคอื่น ๆ
3. พญาชัยยะนาคราช มีเขตแดนจากแก่งกะเบา เรื่อยไปจนสุดแดนที่ปากแม่น้ำโขงลงทะเลในเขมร พญานาคตนนี้มีฤทธิ์เดชมาก ชอบการรณรงค์ทำสงคราม คือชอบการต่อสู้เป็นนิสัย


พญาศรีสัตตนาคราช เป็นใหญ่เหนือพญานาคทั้งปวงในฝั่งลาว เป็นพญานาคที่ทรงฤทธิ์ ท่านเป็นพญานาคที่ชอบจำศีลและประพฤติปฏิบัติธรรมเหมือนพญาศรีสุทโธนาคราช โดยชอบมาที่วัดพระธาตุพนมเหมือนกัน

"หลวงปู่คำพันธ์" ยังได้กล่าวอีกว่า ส่วนใดที่อยู่ใกล้ต้นน้ำลำธาร หรือหากมี
พิธีกรรมอันใดเกิดขึ้น ให้อัญเชิญบอกกล่าวแก่เหล่าพญานาค พิธีกรรมนั้นจะศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง





ขอบคุณข้อมูลจาก
www.sanook.com
www.Tnews.com

เรียบเรียงโดย 
เพจเที่ยวนครพนม


ความคิดเห็น